การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก

การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก

และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้

สิทธิในการลาคลอดมีอะไรบ้าง?

สิทธิประโยชน์ต่างๆที่คุณแม่ได้รับขณะลาคลอด จะช่วยให้ผู้หญิงทำงานเช่นคุณมีเวลาเตรียมตัวเป็นคุณแม่ได้อย่างเต็มตัวเพื่อดูแลทารกก่อนและหลังคลอดได้อย่างอุ่นใจมากขึ้นลองมาดูกันว่าสิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากภาครัฐและเอกชนในช่วงลาคลอดมีอะไรบ้าง

การใช้สิทธิลาคลอดมีประโยชน์ต่อคุณอย่างไร?  

การลาคลอดเป็นโอกาสที่ดีที่คุณแม่จะได้พักฟื้นหลังจากการตั้งครรภ์และคลอดลูกและเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่คุณจะได้สร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อยเรียนรู้วิธีการดูแลลูกช่วงแรกๆเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะได้ใช้เวลากับลูกน้อยคนใหม่ ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาดีๆเหล่านี้สูญเสียไป

สำหรับคุณแม่ที่รับราชการ

มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วันโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์

  1. สำหรับข้าราชการ สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ 90 วัน โดยรับจากส่วนราชการ
  2. พนักงานรับราชการ  สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ โดย 45 วันรับจากส่วนราชการ และอีก 45 วันรับจากสำนักงานประกันสังคม  พร้อมมีสิทธิ์ลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่รับเงินเดือน

นอกจากนี้ ยังสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาทโดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาลซึ่งเบิกแยกเป็นกรณีพิเศษได้พร้อมยังได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาทต่อบุตร 1 คนแต่ไม่เกิน 3 คน จนกว่าบุตรจะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์

หมายเหตุ:กรุณาตรวจสอบสวัสดิการเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ท่านสังกัดอยู่
 

คุณแม่ที่ทำงานในบริษัทเอกชน

มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วันโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์เช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่ายตามกฎหมายแล้วบริษัทจะต้องทำบัตรประกันสังคมให้ทุกท่านคุณสามารถใช้บัตรประกันสังคมเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบของบัตรได้ทันทีโดยจะได้รับสิทธิ์ค่าทำคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาทสำหรับบุตรที่คลอดหลัง 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไปนอกจากนี้ยังได้รับเงินช่วยเหลือการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร  โดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ 45 วัน และ อีก 45 วัน ประกันสังคมจะจ่ายให้ (โดยผู้ประกันที่เป็นหญิงมีสิทธิเบิกค่าคลอดได้ 2 ครั้งและผู้ประกันตนชายเบิกค่าคลอดบุตรได้ 2 ครั้ง) สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท

คุณแม่ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ

คุณแม่ทำงานในรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท ไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโดยส่วนนี้คุณแม่เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบพนักงานรัฐวิสาหกิจ  และยังได้รับเงินช่วยเหลือบุตรจำนวน 50 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมสิทธิ์ลาคลอดได้ 60 วันโดยรับเงินเดือนตามปกติ และลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 30 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน

คุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ

ในกรณีที่คุณแม่ประกอบอาชีพอิสระสามารถใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคโดยในส่วนของการฝากครรภ์ การสร้างภูมิคุ้มกันโรคของเด็กสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี  หรือชำระ 30 บาท สำหรับการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมการตรวจรักษารวมถึงค่าห้องและค่ายา

การทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์

หากคุณแม่ทำงานอยู่ในพื้นที่หรือตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์เช่น ทำงานในโรงงานหรือทำงานในตึกที่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อยๆเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์  คุณแม่มีสิทธิ์ขอย้ายแผนกหรือย้ายโต๊ะทำงานเป็นการชั่วคราวช่วงก่อนหรือหลังคลอดโดยยื่นเรื่องควบคู่กับใบรับรองแพทย์ ทั้งนี้ กฎหมายคุ้มครองคุณแม่ตั้งครรภ์ยังห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำงานระหว่าง 22.00-06.00 น. รวมถึงห้ามทำงานล่วงเวลาทำงานในวันหยุด หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลที่มีความสั่นสะเทือน, งานขับเคลื่อน, งานแบกหามหรือยกของหนักเกิน 15 กิโลกรัมหรืองานในเรืออีกด้วย

ในกรณีที่ต้องลางานเพื่อไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจครรภ์

สิทธิ์ในการลาคลอด 90 วันนั้น นับรวมวันหยุดราชการที่อยู่ในช่วงวันลาโดยคุณแม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างตามปกติหากมีการเลิกจ้างเนื่องจากตั้งครรภ์ถือว่าผิดกฎหมาย

นอกจากสิทธิ์ในการลาคลอดในโรงพยาบาลที่คุณแม่ฝากครรภ์มักมีบริการคอร์สเตรียมคลอดให้กับคุณแม่เรียนฟรีโดยส่วนใหญ่จะเรียนครั้งแรกช่วงระยะครรภ์ 3 เดือน และอีกครั้งช่วง 6-9 เดือนซึ่งแต่ละโรงพยาบาลอาจมีตารางเรียนที่แตกต่างกันคุณแม่สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลที่คุณฝากครรภ์

สงเคราะห์บุตร

หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้คุณแม่มีสิทธิ คือคุณได้จ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา33 หรือมาตรา 39 สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 350 บาทต่อบุตรหนึ่งคน  สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

เงื่อนไขบุตรที่ได้รับการสงเคราะห์

เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน(บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น)ในกรณีที่ผู้ประกันตนชายไม่ได้จดทะเบียนสมรสบุตรจึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนชายสามารถดำเนินการให้บุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ 3 วิธีคือ

  1. จดทะเบียนสมรสกับมารดาของบุตร
  2. จดทะเบียนรับรองบุตร
  3. ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร
Careline Footer

Careline เคียงข้างคุณแม่…ดูแลลูกรัก

ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.

x