การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้

คำถามยอดฮิต เกี่ยวกับอึลูกน้อยวัย 0-1 เดือน

เด็กแรกเกิด – 1 เดือน

Q: ลูกอายุ 5 วัน กินนมแม่แล้วถ่ายบ่อย ผิดปกติหรือไม่คะ?

A: เป็นปกติค่ะ เนื่องจากนมแม่มีเวย์โปรตีนที่ย่อยง่าย และนมแม่ส่วนหน้ามีน้ำตาลแลคโตสและโอลิโกแซคคาไรค์ ใยอาหารซึ่งช่วยให้จุลินทรีย์ชนิดดีเจริญเติบโต นอกจากนั่นยังมีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดินช่วยให้ลำไส้ของลูกน้อยเคลื่อนตัวเร็ว รวมถึงการดูดนมจะไปกระตุ้นการเคลื่อนของอาหารในกระเพาะและลำไส้ใหญ่ ลูกจึงขับถ่ายง่ายและบ่อยครั้งหลังกินนมแม่อิ่มค่ะ

หากอึเจ้าตัวน้อยไม่มีมูกเลือด ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า ร่วมกับดูดนมได้ดี ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปวดท้องร้องกวน ไม่ซึม ก็ไม่ต้องกังวลใจค่ะ

Q: ลูกอายุ 4 วัน อึเป็นสีเขียวปนเหลือง ผิดปกติหรือไม่? เห็นบอกว่าเด็กที่กินนมแม่อึจะเป็นสีเหลืองทอง?

A: เมื่อเจ้าตัวน้อยดูดนมแม่บ่อยขึ้นในช่วง3- 4 วันหลังคลอด อึที่เป็นขี้เทาสีเขียวเข้ม จะค่อยๆจางลงจากเขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง ลักษณะจะเหนียวน้อยลง มีน้ำปนมากขึ้นและมีปริมาณมากขึ้น

Q: ลูก 7 วัน กินนมแม่ อึออกมาเป็นฟอง ๆ และมีเมือก ๆ ผิดปกติมั้ยคะ?

A: เด็กที่กินนมแม่ อึอาจจจะมีฟองและเป็นเมือกๆได้เป็นภาวะปกติค่ะ เพราะได้รับน้ำนมส่วนหน้าที่มีน้ำตาลแลคโตสมาก ประกอบกับลำไส้เด็กมีน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสยังไม่มากพอ ทำให้การย่อยไม่สมบูรณ์จึงเกิดแก๊ส มีลม อึเลยเป็นฟองได้ ไม่เป็นอันตรายนะคะ

Q: ลูกกินนมแม่อย่างเดียว อึเหลวและบ่อยเป็น 10 ครั้ง ท้องเสียหรือเปล่า ต้องงดนมแม่มั้ยคะ

A: สำหรับเจ้าตัวน้อยที่กินนมแม่ ในเดือนแรกๆ มักจะถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย เพราะนมแม่ย่อยง่ายและดูดซึมได้เกือบหมด อึจึงมีกากน้อย น้ำเยอะและถ่ายบ่อยได้ ถ้าอึเหลวแต่มีกากออกมาทุกครั้ง เจ้าตัวน้อยยังร่าเริงดี เล่นได้ กินนมได้ปกติ แม้จะถ่ายเป็น 10 ครั้งก็ถือว่าปกติไม่ใช่อาการท้องเสีย คุณแม่ช่วยลูกให้อึห่างขึ้นได้ โดยบีบน้ำนมแม่ส่วนต้นของเต้านมก่อนที่ลูกจะดูดทิ้งไปประมาณ 20-30 มิลลิลิตรและให้ดูดนมแม่ให้เกลี้ยงเต้า เพราะน้ำนมช่วงท้ายเต้ามีไขมันสูงลูกจะใช้เวลาย่อยและดูดซึมนานขึ้น อึก็จะห่างขึ้นค่ะ การแยกว่าเด็กท้องเสียหรือไม่นั้น จะไม่ดูแค่จำนวนครั้งของการถ่าย แต่จะต้องดูจากลักษณะอึ ถ้าเหลวเป็นน้ำล้วนๆ โดยไม่มีกากเลย หรือมีมูก มีมูกเลือดปนแม้เพียงครั้งเดียว ก็ถือว่าท้องเสีย ควรพาเจ้าตัวน้อยไปพบแพทย์ค่ะ

Q: ก่อนอึลูกจะร้องหน้าดำหน้าแดง แต่พออึเสร็จก็หยุดร้องหลับได้ตามปกติ น้องเป็นอะไรรึเปล่าคะ?

A: เป็นเรื่องปกติค่ะ การที่เด็กร้องก่อนอึพบได้ เพราะเด็กยังไม่รู้ว่าอาการปวดก่อนอึเป็นอาการปวดตามธรรมชาติ ก็จะร้องไห้ก่อน ถ้าอึออกมาแล้วนิ่มดี หลังอึหลับพักได้ปกติ ไม่ร้องกวน แสดงว่าปกติดีค่ะ

Q: อึลูกแบบไหนที่ต้องระวัง?

A: - อึสีขาวซีดเหมือนดินสอพอง ไม่มีสีเหลืองปน ต้องรีบพาไปหาหมอเพื่อดูว่ามีอะไรผิดปกติ

- อึสีดำทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ ในเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวหลังอายุ 3 วันไปแล้ว การที่ลูกอึมีสีดำเข้มเหมือนขี้เทาอีก

แสดงว่าอาจจะมีอะไรผิดปกติ ต้องรีบพาลูกไปหาคุณหมอ

- อึสีแดงสดปน คือ สีของเลือด ต้องสังเกตว่าลูกซึมลง มีไข้หรือไม่ ถ้ามีควรพาลูกหาหมอ หากลูกสบายดี ดูว่าที่รูทวารมีรอย

ฉีกหรือไม่ แผลที่ทวารทำให้มีเลือดปนออกมากับอึได้ ถ้าไม่มีรอยฉีก ให้สังเกตว่า แม่กินอาหารออะไรบ้างที่มีโปรตีน

แปลกปลอมที่อาจจะส่งผ่านไปทางน้ำนมแม่ ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ลำไส้ใหญ่ และมีเลือดปนออกมากับอึได้

เคล็ด (ไม่) ลับกับแคร์ไลน์ สำหรับเด็กแรกเกิด – 1 เดือน

เจ้าตัวน้อยที่อึบ่อยจนก้นแดง ควรให้ดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้าเพื่อให้ได้รับนมส่วนหลังที่มีไขมันมากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาในการย่อยนานขึ้น ทำให้อึห่างลงได้ค่ะ ซึ่งอาจจะอึมีเนื้อนิ่มแต่ข้นกว่าเป็นเม็ดเล็กๆเหมือนเม็ดมะเขือได้นะคะ และหลังจากเจ้าตัวน้อยอึ ควรรีบล้างคราบอึออกด้วยน้ำสะอาดทันทีและซับก้นให้แน่ใจว่าก้นแห้งสนิท ใช้วาสลีนทาผิวก้นของน้องเคลือบไว้ ระหว่างวัน ถอดผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อให้ก้นของน้องสัมผัสอากาศโดยเฉพาะหลังถ่าย จะช่วยลดอาการก้นแดงได้ดีขึ้น

คำถามยอดฮิต เกี่ยวกับอึลูกน้อยวัย 1-6 เดือน

เด็ก 2 - 6 เดือน

Q: ลูกอายุ 2 เดือน กินนมแม่อย่างเดียวเดือนแรกอึปกติค่ะ วันละ 5 - 6 ครั้ง พอเข้าเดือนที่ 2 ลูกเริ่มอึวันเว้นวัน สีเหลือง มีเนื้อปนเยอะและผายลมบ่อยมีกลิ่นเหม็นมากไม่ทราบว่าปกติหรือไม่คะ?

A: เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ลำไส้ของเจ้าตัวน้อยจะพัฒนาและดูดซึมดีขึ้นแล้ว สามารถย่อยนมแม่ได้หมด โดยไม่เหลือกากใยอาหาร ซึ่งในการอึแต่ละครั้ง ถ้ามวลอึไม่มากพอก็จะไม่อึออกมาต้องรอรอบถัดไปหรือวันถัดไปจึงทำให้ไม่ถ่ายทุกวันได้ค่ะ ในช่วงวันที่เจ้าตัวน้อยไม่ถ่าย ถ้าหากดูดนมได้ดี ไม่ปวดท้อง ไม่ร้องงอแง มีผายลม ถือว่าลำไส้ทำงานได้ดีอยู่ยังไม่ใช่อาการท้องผูกนะคะ

Q: ลูก 2 เดือน15 วัน ช่วงแรกน้องกินนมแม่และนมผสม ไม่อึมา 2 วัน พออึออกมก็เหนียว ๆ สีเขียวๆ อันตรายหรือไม่?

A: เด็กที่ดื่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารกอึมักจะจับตัวมากกว่าของเด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว สีของอึก็มีหลากหลายตั้งแต่เหลือง เขียวไปจนถึงน้ำตาลซึ่งถือว่าปกติทั้งสิ้น ในช่วงสองเดือนแรกคลอด เจ้าตัวน้อยที่ดื่มนมผงจะไม่ถ่ายบ่อยเท่าเจ้าตัวน้อยที่กินนมแม่ โดยเฉลี่ยจะประมาณวันละสี่หรือห้าครั้งและอึจะข้นและมีปริมาณมากกว่าของเจ้าตัวน้อยที่กินนมแม่ ซึ่งเป็นลักษณะอึปกติไม่ใช่อาการท้องผูกค่ะ

Q: ลูก 7 วัน กินนมแม่ อึออกมาเป็นฟอง ๆ และมีเมือก ๆ ผิดปกติมั้ยคะ?

A: เด็กที่กินนมแม่ อึอาจจจะมีฟองและเป็นเมือกๆได้เป็นภาวะปกติค่ะ เพราะได้รับน้ำนมส่วนหน้าที่มีน้ำตาลแลคโตสมาก ประกอบกับลำไส้เด็กมีน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสยังไม่มากพอ ทำให้การย่อยไม่สมบูรณ์จึงเกิดแก๊ส มีลม อึเลยเป็นฟองได้ ไม่เป็นอันตรายนะคะ

Q: ลูกสาวเวลาปวดอึ ชอบบิดไปมาแล้วก็เบ่งหน้าดำหน้าแดงแต่ก็ดูดนมได้ปกตินะคะ ตอนนี้ 3 วันแล้วลูกยังไม่อึเลย ต้องทำยังไงดีคะ สงสารลูกดูเหมือนเค้าอึดอัดเลยค่ะ?

A: เจ้าตัวน้อยวัยนี้ยังเบ่งอึเองไม่เป็น กล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนักยังทำงานไม่ประสานกันกับการเคลื่อนของอึ ภาวะนี้จะดีขึ้นเมื่อเจ้าตัวน้อยโตขึ้น ช่วงนี้คุณแม่ช่วยเจ้าตัวน้อยในการอึด้วยการช่วยออกกำลังกายกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น การนวดท้อง หรือการยกขาออกกำลังหน้าท้องในท่าปั่นจักรยานอากาศ จะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ช่วยทำให้เจ้าตัวน้อยอึได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

Q: เห็นบอกว่าเด็กทารกไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกท้องผูก?

A: คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณอาการท้องผูกของลูกได้ จากการที่ลูกร้องไห้โยเย หรือแผดเสียงเวลาเบ่งอึ อึเป็นก้อนแห้งแข็ง และเป็นเม็ดๆ เหมือนเม็ดกระสุน คล้ายอึแพะ หรือเป็นลำยาวๆ แข็งๆ กินนมน้อยลง ท้องป่องและแข็ง หงุดหงิดง่าย หากลูกมีอาการดังกล่าวให้สันนิษฐานได้เลยว่าลูกรักกำลังท้องผูกค่ะ

Q: อาการท้องผูกของลูกน้อยวัย 3 เดือน เกิดจากอะไร?

A: อาการท้องผูกในทารกเกิดได้ แต่โอกาสพบน้อย ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการมากขึ้นและเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อม จึงอาจจะทำให้เด็กกลั้นอึ พอกลั้นบ่อย ๆ จะส่งผลให้ปลายลำไส้ใหญ่ขยายขึ้น อึก็จะไปสะสมนานและแข็ง มีขนาดก้อนโต พอถึงเวลาถ่ายก็ปวด รูทวารฉีกขาด อึมีเลือดปน เมื่อเป็นแบบนี้บ่อย ๆ เด็กจะยิ่งกลัวการถ่ายก็ยิ่งกลั้นอึ ทำให้เกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้

Q: ลูกไม่อึมา 2 วันแล้วก็เลยสวนก้นให้ อึออกมานิ่มเละ ไม่แข็ง ไม่เหนียว ตอนนี้สามวันแล้วลูกก็ยังไม่อึ อย่างนี้เรียกว่าท้องผูกหรือเปล่าคะ?

A: จากลักษณะอึของเจ้าตัวน้อยที่สวนออกมามีลักษณะนิ่มเหลว ไม่ใช่อาการท้องผูกค่ะ หากเจ้าตัวน้อยยังกินนมได้ปกติ มีผายลม ไม่ร้องกวน แสดงว่าลำไส้ยังทำงานได้ดีอยู่ อาจจะไม่ถ่ายได้นานถึง 7 วันค่ะ

Q: ช่วงนี้ลูกไม่สบาย ไม่ค่อยกินข้าว ดูดแต่นมแม่อย่างเดียว ดูดแต่ละครั้งไม่นาน แต่ดูดบ่อย ถ่ายบ่อย อึเป็นสีเขียวเข้มเลย จะเป็นอะไรมั้ย

A: หากเจ้าตัวน้อยไม่สบาย กินนมแม่แต่ละครั้งไม่นาน และกินบ่อย อาจได้รับแต่นมส่วนหน้าซึ่งมีน้ำตาลแลคโตสมาก ไขมันน้อย จะใช้น้ำดีในการย่อยน้อย น้ำดีที่เหลือจากการใช้งานจึงออกมากับอึเยอะ อึจึงออกมามีสีเขียวมากกว่าเหลืองค่ะ แนะนำคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่ให้เกลี้ยงเต้า เพื่อที่ลูกจะได้ไขมันจากน้ำนมส่วนท้ายเต้าด้วยนะคะ

Q: ลูก 6 เดือน กว่าแล้ว กินนมแม่และให้อาหารเสริมตามวัย 1 มื้อ มีอาการท้องผูก ทั้งที่ก่อนหน้านี้น้องไม่เคยมีอาการท้องผูกเลย เป็นเพราะอะไรคะ?

A: เด็กอายุ 6 เดือน ที่เริ่มได้รับอาหารเสริมตามวัยแล้วไม่อึหรืออึแข็ง อาจเป็นผลจากอาหารบางอย่างที่เขากิน เช่น ข้าวกล้อง มันฝรั่ง ฟักทอง แครอท ตับ ไข่แดง กล้วย ซึ่งบางคนกินแล้วอาจถ่ายแข็งได้ จึงควรสังเกตอุจจาระของลูก เวลาให้อาหารเสริมควรให้ทีละอย่าง ถ้าพบว่าอาหารชนิดใดมีผลที่ทำให้ถ่ายยากก็อย่ากินมากเกินไป หรือให้ผสมกับอาหารกลุ่มที่ทำให้ถ่ายง่าย ถ่ายนิ่ม เช่น มะละกอ ลูกพรุน ผักสีเขียว และผักใบที่มีเส้นใยค่ะ

Q: ลูก 6 เดือน กว่า ช่วงนี้น้องเริ่มจะคืบได้แล้ว ก่อนหน้านี้อึวันละ 1 ครั้ง แต่ช่วงนี้น้องอึวันละ 4 ครั้ง เละเหลวเป็นน้ำ แบบนี้ท้องเสียหรือเด็กยืดตัวคะ?

A: เด็กวัยขวบปีแรกจะมีพัฒนาการของร่างกายจากนอนหงายเป็นนอนคว่ำ,คืบ,นั่ง,ยืน,เดิน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องท้องเสียเลย แต่การทีเด็กท้องเสียมักเกิดในช่วงที่เด็กเปลี่ยนพัฒนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนมากพบได้จากการได้รับเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมักเข้าทางปากโดยการกินอาหารหรือดื่มนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการคลานไปหยิบจับของเล่นเข้าปากหรือแม้กระทั่งเวลาเด็กคลานเล่น มือของเด็กก็สัมผัสกับสิ่งที่สกปรกมีเชื้อโรคและเอาเชื้อโรคเข้าปากตัวเอง ทำให้มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหารได้ค่ะ

เคล็ด (ไม่) ลับกับแคร์ไลน์ สำหรับเด็ก 2 – 6 เดือน

A: หากลูกน้อยไม่อึหลายวัน แต่ยังกินนมได้ดี ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้องร้องกวน ผายลมปกติ อาจจะไม่อึได้นานถึง 7 วันค่ะ ถ้าอยากช่วยให้ลูกอึ แนะนำให้เจ้าตัวน้อยดูดนมแม่ส่วนหน้า หากกินนมผสมให้กินน้ำตามหลังกินนมทุกมื้อและนวดหน้าท้องออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้องจะได้แข็งแรง มีแรงเบ่ง โดยการนวดหน้าท้องแบบรูปตัว U กลับหัว ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวบีบตัว ขับอึออกได้ง่ายขึ้นค่ะ

Careline Footer

Careline เคียงข้างคุณแม่…ดูแลลูกรัก

ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.

x