การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้

พัฒนาการทารกในครรภ์ในแต่ละเดือน 

ตลอดช่วง 9 เดือนในครรภ์คุณแม่ ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้และติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์แต่ละเดือนจะช่วยให้คุณแม่มีความสุขในการดูแลทารกในครรภ์ และดูแลคุณแม่ให้พร้อมคลอดทารกที่สมบูรณ์แข็งแรง

พัฒนาการทารกในช่วงไตรมาสแรก : 3 เดือนแรกในครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 1 : ปฏิสนธิ

  1. เมื่อไข่และอสุจิผสมกัน โครโมโซมจากคุณพ่อและคุณแม่เริ่มกำหนดเพศ ผม สีตา และลักษณะเฉพาะต่างๆเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของทารก
  2. ชีวิตเริ่มก่อกำเนิดขึ้นจากเซลล์หนึ่งเซลล์ที่เรียกว่า Zygote เริ่มแบ่งจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปดเซลล์ กระทั่งเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า Embryo เดินทางผ่านท่อนำไข่เข้าไปฝังตัวที่ผนังมดลูก
  3. เมื่อตัวอ่อนฝังตัวเรียบร้อยแล้ว เริ่มมีการสร้างรก สายสะดือและผลิตน้ำคร่ำเพื่อหล่อเลี้ยงปกป้องตัวอ่อน การแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากมายยังดำเนินต่อไป เพื่อจะพัฒนาเป็นอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย
  4. ในระยะนี้ตัวอ่อนมีขนาดเล็กประมาณ ¼ นิ้ว จะได้รับอาหารจากถุงไข่แดงที่อยู่ติดกับตัวอ่อน ก่อนที่รกจะพัฒนาเต็มที่และทำหน้าที่แทน

 

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 2 : หัวใจเริ่มเต้นแล้ว

  1. พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือนนี้ ตัวอ่อนพัฒนารูปร่างชัดเจนขึ้น ศีรษะดูใหญ่กว่าส่วนอื่น เริ่มเห็นใบหน้า ดวงตากลมดำ หู จมูก แขนขา มือเท้า เปลือกตาบน ลำตัวเริ่มยืดออก ในช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
  2. ตรวจพบว่าหัวใจเต้นแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ซึ่งคุณแม่จะเห็นได้เมื่อทำอัลตราซาวด์
  3. ระบบประสาทส่วนกลางมีการพัฒนา หลอดประสาทซึ่งประกอบด้วยสมอง ไขสันหลังและเนื้อเยื่อเส้นใยประสาทมากมาย ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณกับเซลล์อื่นๆ เพื่อพัฒนาการตอบสนองและพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้ทารกเริ่มขยับตัว ทางเดินอาหารและอวัยวะรับสัมผัสต่างๆเริ่มมีการพัฒนา

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 3 : สมองเริ่มพัฒนา

  1. พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือนนี้ อวัยวะพัฒนาสมบูรณ์ มีดวงตา จมูก ปาก หน้าผาก ใบหู แขนขา นิ้วมือนิ้วเท้า เล็บมือเล็บเท้า สามารถขยับแขนขากำมือ เหยียดมือ อ้าปากได้ ช่วงนี้ทารกขนาดตัวยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร
  2. อวัยวะเพศกำลังพัฒนาเป็นชายหรือหญิงแต่ยังเห็นไม่ชัดเจนเมื่อดูจากอัลตราซาวด์ อวัยวะสำคัญทั้งหมดสร้างเรียบร้อยแล้วและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานได้
  3. สมองกำลังสร้างจุดเชื่อมต่อสัญญาณประสาทมากมาย ระบบไหลเวียนและขับถ่ายปัสสาวะเริ่มทำงาน ตับมีการผลิตน้ำดี รกเริ่มส่งผ่านสารอาหารจากคุณแม่สู่ทารกและขับของเสียออกผ่านทางสายสะดือ

พัฒนาการทารกในช่วงไตรมาสที่สอง : 4-6 เดือนในครรภ์คุณแม่

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 4 : เริ่มบ่งบอกเพศได้

  1. เมื่อครรภ์มีพัฒนาการไปได้ถึง 4 เดือน ทารกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาว 16-18 เซนติเมตร น้ำหนัก 200 กรัม มีผิวบางใสจนเห็นเส้นเลือดภายในชัดเจน มีการพัฒนาเปลือกตา ขนตา คิ้ว เล็บ ผม ลายมือ และสามารถขยับตัว ขยับแขนขา กำหมัด ดูดนิ้วโป้ง ดูดกลืนน้ำคร่ำได้
  2. ทารกเริ่มแสดงความรู้สึกทางสีหน้า ระบบประสาทกำลังเริ่มทำงาน และประสาทสัมผัสทางลิ้นเริ่มมีการพัฒนาปุ่ม รับรส กระดูกมีมวลหนาแน่นขึ้น
  3. อวัยวะเพศภายนอกและภายในพัฒนาสมบูรณ์ เมื่อทำอัลตราซาวด์จะเห็นเพศหญิงหรือชายชัดเจนขึ้น ทารกเพศหญิงในรังไข่มีไข่นับพันฟองแล้ว

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 5 : ทารกเริ่มดิ้น

  1. เมื่อครรภ์มีพัฒนาการไปได้ถึง 5 เดือน ทารกตัวใหญ่ขึ้น มีขนาดตัวยาว 20-25 เซนติเมตร น้ำหนัก 400 กรัม กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จนคุณแม่รู้สึกได้ว่าทารกเริ่มดิ้น
  2. ฟันของทารกเริ่มพัฒนา ผมเริ่มงอก และมีขนอ่อนๆขึ้นตามร่างกาย
  3. ผิวของทารกมีการผลิตไขสีขาวออกมาเคลือบผิวไว้ซึ่งจะช่วยปกป้องไม่ให้ระคายเคืองจากการอยู่ในน้ำคร่ำเป็นเวลานาน และมีการสร้างชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย
  4. ทารกเริ่มพัฒนาการรับรู้สัมผัสในด้านต่างๆ ทั้งแสง เสียง กลิ่น รส เวลาคุณแม่ลูบท้องทารกสามารถรับรู้ได้ ส่วนหูก็พัฒนาจนได้ยินเสียงของคุณแม่ การที่ทารกได้ยินเสียงต่างๆเช่นเสียงเพลงสามารถกระตุ้นประสาทการได้ยินให้ทำงานได้เร็วและช่วยให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ดีภายหลังคลอด

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 6 : ทารกเริ่มตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น

  1. เมื่อครรภ์มีพัฒนาการไปได้ถึง 6 เดือน กล้ามเนื้อของทารกพัฒนาสมบูรณ์ขึ้น ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาว 30 เซนติเมตร น้ำหนัก 600 กรัม
  2. ทารกได้ยินเสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ คุ้นเคยกับเสียงคุณแม่ และสามารถตอบสนองด้วยการขยับตัว เคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียง
  3. ระบบต่างๆกำลังพัฒนา ระบบภูมิคุ้มกันมีการพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ระบบหายใจมีการผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอดเพื่อช่วยให้ถุงลมพองตัว ปอดเริ่มหายใจในน้ำคร่ำ ซึ่งอาจทำให้ทารกสะอึกจนคุณแม่รู้สึกว่าทารกกระตุกอยู่ในท้อง ระบบประสาทสมองพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการคิดและการต่อรอง
  4. อวัยวะเพศภายในกำลังพัฒนา เพศชายอัณฑะจะเริ่มคล้อยลง ส่วนเพศหญิง มดลูก รังไข่และช่องคลอดเคลื่อนไปประจำตำแหน่ง

พัฒนาการทารกในช่วงไตรมาสที่สาม : 7-9 เดือนในครรภ์คุณแม่

  1. พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 7 : ทารกเริ่มลืมตา
  2. ผิวทารกพัฒนาหนาขึ้นไม่บางใสแล้ว มีการสะสมไขมันใต้ผิวหนังทั่วตัวเพื่อรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย ช่วงนี้ทารกขนาดตัวยาว 35 เซนติเมตร น้ำหนัก 1000-1200 กรัม เริ่มขยับตัวไปในทิศทางที่ง่ายต่อการคลอด
  3. ทารกเริ่มลืมตา กระพริบตาได้เมื่อเห็นแสงที่ส่องผ่านหน้าท้องคุณแม่ การส่องไฟทางหน้าท้องจะทำให้เซลล์สมอง ระบบเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นพัฒนาได้ดีขึ้น
  4. ระบบประสาทสมองมีการพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายส่วนที่ควบคุมเวลาตื่นเวลานอนของทารก

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 8 : ทารกเริ่มพัฒนาประสาทรับรู้แสง

  1. พัฒนการทารกในครรภ์ในช่วง 8 เดือนนี้ ระบบภายในร่างกายส่วนใหญ่พัฒนาได้ดี ทารกดิ้นเตะกระทุ้งศอกแรงขึ้น แต่ปอดยังคงพัฒนาไม่เต็มที่ ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาว 40-45 เซนติเมตร น้ำหนัก 2000-2500 กรัม ทารกเริ่มกลับตัวหันศีรษะลงด้านล่าง
  2. ระบบประสาทสมองของทารกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในสมอง และสมองมีรอยหยักมากขึ้น
  3. ระบบประสาทส่วนที่รับรู้เสียง แสง และการสัมผัสทำงานได้ไวขึ้น ทำให้ทารกสามารถรับรู้ความมืดความสว่างได้

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 9 : ปอดและผิวหนังของทารกสมบูรณ์

  1. เมื่อครรภ์พัฒนาไปได้ถึง 9 เดือน ปอดของทารกพัฒนาเต็มที่ เตรียมพร้อมหายใจครั้งแรกหลังคลอด ผิวหนังสมบูรณ์ ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาว 50 เซนติเมตร น้ำหนัก 2800-3000 กรัม ทารกกลับศีรษะลงสู่ช่องเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมคลอด
  2. ระบบภูมิต้านทานกำลังทำหน้าที่ปกป้องทารกและยังคงพัฒนาต่อไปภายหลังคลอด อีกทั้งการเลี้ยงทารกหลังคลอดด้วยนมแม่จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของทารกให้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
  3. สมองเริ่มควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การตอบสนองต่างๆ การตื่นตัว รวมถึงการคว้าจับ การดูด ซึ่งจะทำให้ทารกสามารถจับมือคุณแม่และดูดนมคุณแม่ได้ทันทีหลังคลอด

Sources:

https://www.webmd.com/baby/interactive-pregnancy-tool-fetal-development?week=1สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก กระทรวงสาธารณสุข 2556
https://th.theasianparent.com/9-เดือนในท้องแม่http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=425.
พิชฏา อังคะนาวิน.การส่งเสริมสมองเพื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2559

Careline Footer

Careline เคียงข้างคุณแม่…ดูแลลูกรัก

ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.

x