5 ข้อสำคัญกับจำนวนเซลล์สมองและพัฒนาการของลูก
การที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจการทำงานเซลล์สมอง และการทำงานของสมองลูกตั้งแต่ในครรภ์ ดังนี้
1. เซลล์สมองพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ถึง 3 ขวบ
หลังคลอด แม้เป็นช่วงวัยทารก แต่ก็มีจำนวนเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ และหลังจากนั้น เซลล์สมอง ก็จะเติบโตเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวัย 3 ขวบ เด็กจะมีขนาดสมองถึง 80 % เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่หลังจาก 3 ขวบไปแล้ว ก็จะไม่มีการเพิ่มเซลล์อีก แต่จะพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาทแทน และพอถึงวัย 10 ขวบเป็นต้นไป สมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆ และนั่นถึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเด็กปฐมวัย ถึงเป็นช่วงที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการทางสมองที่สำคัญมาก อาหารการกิน การได้เล่น การเรียนรู้ อารมณ์ ทั้งหมดนี้จะส่งผลทั้งหมดกับการพัฒนาสมอง
2. ลูกคุณมีเซลล์สมองจำนวนเท่าไร
เซลล์สมองทั้งหมด มีถึงกว่า 1 แสนล้านเซลล์ และเซลล์สมองแต่ละเซลล์นั้น จะมีส่วนเหมือนแขนขายื่นออกไป หน้าตาเป็นเส้นใยแตกแขนงออกมามากมายเป็นพันๆ เส้น เพื่อเชื่อมโยงกันระหว่างเซลล์สมองอื่นๆ เรียกว่า แอกซอน (Axon) และเดนไดรท์ (Dendrite) จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอน และเดนไดรท์ก็คือ ซีนแนปส์ (Synapses) นั่นเอง เส้นใยสมอง แอกซอน จะส่งสัญญาณกระแสประสาท ไปยังเซลล์สมองต่างๆ ถัดไป
3. ยิ่งเซลล์เชื่อมโยงกันมากยิ่งฉลาด
ยิ่งเซลล์สมองมีการเชื่อมโยงกันมากเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งฉลาดมากเท่านั้น ซึ่งการเชื่อมโยงสร้างได้จากการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั่นคือ ยิ่งถ้าเด็กได้รับการเรียนรู้ และการได้คิด ได้ตั้งคำถาม ได้เห็น ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ๆ ทำให้เกิดการแตกแขนงเชื่อมติดต่อกันจากเซลล์สู่เซลล์ยิ่งขึ้น ทำให้ลูกยิ่งฉลาดมากขึ้น เช่น เป็นคนคิดไว เรียนรู้ไว ทำอะไร เล่นอะไรก็จะพัฒนาได้ง่าย หรือหาคำตอบอะไรได้ด้วยตัวเองง่ายขึ้นกว่าคนอื่น
4. สมองหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน
สมองมีหลายส่วนด้วยกัน แต่ละส่วนก็รับหน้าที่ต่างกันไป แต่ทั้งหมดก็เชื่อมโยงและทำงานประสานกัน หรือทำสองหน้าที่ได้ เช่น สมองส่วนเก็บความจำ และใช้รับรู้การเคลื่อนไหว และการสังเกตสี รูปร่าง หรือหลายส่วน ก็สามารถทำหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อรับรู้ ตรวจจับถึงเหตุการณ์ได้ เช่น สมองส่วนนึงการมองเห็นลูกบอลลอยเข้ามาหา สมองส่วนรับรู้การเคลื่อนไหว การมองเห็นสี และสังเกตจดจำรูปร่าง สามารถคาดเดาระยะของบอลได้ และส่วนอื่น ก็วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ลอยมาคืออะไรกันแน่ ดังนั้นการให้ลูกได้เรียนรู้ในประสบการณ์ที่หลากหลาย จะช่วยพัฒนาสมองในส่วนต่างๆ ที่มีหลายส่วนได้มากกว่า การทำอะไรซ้ำๆ เพียงไม่กี่อย่าง การให้ลูกได้เรียนดนตรี และเล่นกีฬา ด้วยก็ยิ่งช่วยพัฒนาสมองได้มากกว่าเด็กคนอื่น ที่เล่นกีฬาอย่างเดียว
5. เด็กยิ่งเครียดยิ่งขัดขวางการเรียนรู้
จากการศึกษาพบว่า ความเครียด จะขัดขวางการเจริญเติบโตของสมอง อย่างความคิดและการเรียนรู้ การเลี้ยงดู ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว โดนดุ โดนตี จนเครียด เช่น บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข อึดอัด คับข้องใจ พ่อแม่ คุณครู อารมณ์ไม่ดี อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ครูดุ เมื่อเด็กพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้ สารเคมีทั้งร่างกายก็ปล่อยออกมา และไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับ ความเครียด เรียกว่า คอร์ติโซล (Cortisol)
ซึ่งจะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด การพัฒนาความฉลาด จนถึงสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ ซึ่งความเครียด จะส่งผลให้สมองส่วนนี้เล็กลง ซึ่งน่าเสียดาย เพราะเด็กเล็ก มีสมองที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนามาก แต่กลับต้องมาถูกทำลายเพราะความเครียด ส่งผลทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ หายไปตลอดชีวิตได้
Soure:
บทความจากกระทรวงการศึกษา
https://sites.google.com/site/exercisemoph/hna-raekkm/kar-phathna-khxng-smxng-dek