ขั้นตอนปั๊มนมแม่ สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องรู้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การบีบน้ำนมจากอกของคุณแม่มาเก็บไว้เพื่อป้อนลูกน้อย หรือที่เรียกกันติดปากว่า การปั๊มนม เป็นอีกหนึ่งกิจวัตรสำคัญของคุณแม่ช่วงให้นมบุตรนะคะ และยังถือเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝนโดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย
ปกติแล้ว ความจำเป็นที่คุณแม่ต้องเลือกวิธีปั๊มน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกน้อยแทนการให้ดูดจากอก มีอยู่ด้วยกันหลักๆ 3 เหตุผลค่ะ
-
ลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด และยังไม่สามารถดูดนมได้ แต่จำเป็นต้องกินนมแม่
-
คุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกจากอกได้ตลอดเวลา เช่น ต้องทำงาน หรือยามเดินทาง
-
เต้านมคัด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการคัดของเต้านมคุณแม่ได้
การปั๊มนมแม่ว่ากันง่ายๆ
ก็คือวิธีการบีบเก็บน้ำนมแม่โดยใช้มือหรืออุปกรณ์ปั๊มนมบีบเก็บน้ำนมแม่จากเต้า เข้าไปเก็บไว้ก่อน ค่อยป้อนทีหลังนั่นเอง เมื่อคุณแม่บีบเก็บน้ำนม คุณแม่มั่นใจได้เลยค่ะว่า ปริมาณน้ำนมของคุณแม่จะไม่ลดลง และโดยทั่วไป มีวิธีปั๊มนม 2 วิธีค่ะ คือ ใช้มือ หรือ ใช้อุปกรณ์ มาเริ่มต้นเทคนิควิธีการปั๊มนมกันเลยค่ะ
ก่อนเริ่มปั๊ม คุณแม่อาจช่วยทำให้น้ำนมหลั่งด้วยการนวดคลึงเต้านมเบาๆ เป็นลักษณะวนไปมา รอบๆ เต้านม โดยเริ่มจากใต้วงแขนก่อน การอาบน้ำอุ่นหรือนอนแช่น้ำอุ่นก็เป็นตัวช่วยนะคะ
1. ปั๊มนมแม่ด้วยมือ
-
ล้างมือก่อนเริ่มเสมอ
-
วางนิ้วมือบนลานหัวนมโดยทำเป็นรูปตัว C นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบนเหนือหัวนม และนิ้วมืออื่นๆ อยู่ด้านล่าง
-
กดลงบนอกแล้วบีบเบาๆ โดยกลิ้งนิ้วมือไปทางหัวนม
-
เคลื่อนนิ้วมือไปรอบๆ ลานหัวนมเพื่อบีบน้ำนมออกมา
-
เก็บน้ำนมในภาชนะที่ผ่านการฆ่าเชื้อ
2. ปั๊มนมแม่ด้วยอุปกรณ์
-
อุปกรณ์ปั๊มนมจะมีอยู่ 3 ชนิดนะคะ คือ ควบคุมด้วยมือ ทำงานด้วยแบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้า ซึ่งวิธีใช้โดยทั่วไปอยู่บนหลักการเดียวกัน ดังนี้ค่ะ
-
วางฝาครอบบนหัวนม เช็คให้แน่ใจว่าฝาครอบปิดลานหัวนมจนมิดหรือเกือบมิด
-
เปิดเครื่อง หรือถ้าใช้อุปกรณ์ปั๊มมือ ก็ควบคุมการปั๊มตรงมือจับ
-
เมื่อเริ่มปั๊มน้ำนมจะเริ่มไหลเข้าไปในภาชนะเก็บค่ะ ซึ่งอุปกรณ์ปั๊มนมนี้จะดีไซน์เลียนแบบวิธีการดูดนมของทารก
ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ แต่การปั๊มครั้งแรกๆ คุณแม่อาจจะยังไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ แต่เป็นกิจกรรมที่ทำบ่อยๆ แล้วจะเริ่มคล่องไปเองนะคะ เราขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่นักปั๊มนะคะ
เมื่อคุณแม่รู้จักวิธีการปั๊มแล้ว อย่าลืมอ่านวิธีการเก็บรักษาน้ำนม และวิธีการละลายน้ำนมที่เก็บแช่แข็งไว้ด้วยนะคะ