พัฒนาการทางสมองของลูกน้อยวัยหัดเดิน
ทารกวัยหัดเดินหมายถึงช่วงอายุ 2-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาการมากมาย
พ่อแม่มือใหม่ส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่า ทุกครั้งที่ลูกน้อยมองเห็น ได้ยิน สัมผัสสิ่งใหม่ๆ การได้ดมกลิ่นแปลกใหม่ และลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ หรือแม้แต่การได้ย้อนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขา เซลล์สมองของลูกน้อยจะเกิดการเชื่อมโยงกันอย่างมากมาย มีการจัดระบบการเชื่อมโยงใหม่อย่างรวดเร็ว การมีปฏิกิริยาเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการช่วยให้เขาพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ในโลกรอบตัว และรู้จักที่จะจัดการกับบทบาทของตัวเองได้มากขึ้น
ช่วงวัยหัดเดินนี้เป็นวัยที่ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เริ่มใช้ภาษาสื่อสาร ในการแสดงความรู้สึก และสื่อสารกับคนรอบๆ ข้าง พัฒนาการทางสมองที่แสดงผ่านทางการใช้ภาษาและการแสดงออกของเด็กในวัย 2 และ 3 ขวบนั้น จะมีระดับการพัฒนาที่ต่างกันนะคะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้จากการแสดงออกตามตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 2 ขวบ
-
พูดได้ 50-200 คำ
-
เริ่มพูดเป็นประโยค 2 คำ
-
ใช้สรรพนาม “หนู” และ “แม่”
-
เรียกชื่อสิ่งของบางอย่างได้
-
เลียนคำพูดของผู้ใหญ่
-
ทำตามคำสั่งได้
-
รู้สึกสนุกสนานกับเรื่องราว เพลง และคำที่มีเสียงคล้องจองที่ไม่ซับซ้อน
-
รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตุ๊กตาหมี หรือตุ๊กตาอื่น
พัฒนาการเด็กวัย 3 ขวบ
-
เริ่มเข้าใจแยกแยะความหมาย “หนึ่งเดียว” และ “จำนวนมาก”
-
พูดเป็นประโยค 2-3 คำ ได้
-
เข้าใจสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น ใหญ่และเล็ก ขึ้นและลง
-
รู้จักบางสี
-
เรียกชื่อสิ่งของได้หลายอย่างมากขึ้น
-
เริ่มเข้าใจเหตุผลและแก้ปัญหาได้
-
รู้จักเคารพกฎระเบียบ
-
เริ่มรู้จักแยกแยะและแสดงความสนใจในสี รูปร่าง และขนาดต่างๆ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบตัวอย่างพฤติกรรมต่างๆ นี้แล้ว ต้องคอยสังเกตและสนับสนุนให้ลูกรักมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยนะคะ